ติดต่อคุณชิน 084-3589848 Email : russameeprom@gmail.com
โบสถ์พราหมณ์ เทวสถานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ |
|
นานาสาระกับพระเครื่อง โบสถ์พราหมณ์ เทวสถานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
1 ปฐมกำเนิดเสาชิงช้า...
กรุงเทพมหานครหรือกรุงรัตนโกสินทร์เป็นเมืองหลวงของสยามประเทศมาช้านาน นับได้แต่เริ่มสร้างบ้านแปลงเมืองสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลต้นแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 1 มีพระราชประสงค์สถาปนาเมืองขึ้นที่ชัยภูมิใหม่อันอยู่ตรงข้ามกับทำเลเดิมซึ่งคือ "ธนบุรี" แลมีแม่น้ำเจ้าพระยาคั่นอยู่ ครั้นสร้างพระนครในปีพุทธศักราช 2325 ล่วงแล้วได้ 2 ปี มีพราหมณ์ชาวสุโขทัยท่านหนึ่งชื่อ พราหมณ์กระต่าย กราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงธรรมเนียมการสร้างพระนครว่า...
ปกติการสร้างเมืองหลวงให้เป็นอุดมมงคลย่อมต้องคำนวณฤกษ์ยามให้ถี่ถ้วน ตลอดจนบวงสรวงเทพเจ้าเหล่าพรหมอันมี "พระศิวะเจ้า" ผู้ประทานพร "พระพรหมธาดา" ผู้สร้าง และ "พระนารายณ์" ผู้รักษา เพื่อให้เมืองนั้น ๆ มีความเจริญรุ่งเรืองภิญโญยศสืบไป
ครั้นพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลต้นทรงสดับ ก็ทรงเห็นพ้องดีงามจึงมีพระบรมราชโองการสถาปนายศให้พราหมณ์กระต่ายเป็น "พระครูสิทธิชัย" และดำเนินการสร้างหอเทวาลัยขึ้นในปีพุทธศักราช 2327 เพื่อประดิษฐานเทวรูปมหาเทพและเพื่อประกอบพิธีต่าง ๆ ทางพราหมณ์ จากนั้นจึงดำเนินการสร้าง "เสาชิงช้า" ขึ้นพร้อม ๆ กับ "วัดสุทัศนเทพวราราม" โดยกำหนดว่า ณ วัดสุทัศน ฯ แลเสาชิงช้านั้นคือใจกลางพระนคร
"เสาชิงช้า" ถูกสร้างขึ้นในวันพุธ แรม 4 ค่ำ เดือน 5 ปีมะโรง พุทธศักราช 2329 ซึ่งแต่เดิมเสาชิงช้ามิได้ตั้งอยู่ ณ บริเวณปัจจุบัน แต่อยู่ตรงหน้าเทวสถานเลยทีเดียว หากภายหลังมีการสร้างโรงเก็บน้ำมันก๊าดขึ้น จึงย้ายเสาชิงช้ามาตั้งไว้ยังสถานที่ดังทุกวันนี้ เสาชิงช้าเป็นไม้สักล้วนมีความสูงจากฐานกลมถึงยอดลายกระจังประมาณ 21 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางฐานกลมประมาณ 10.50 เมตร ฐานนั้นก่อเป็นฐานปัทม์ทำด้วยหินล้างสีขาวพื้นปูกระเบื้องดินเผาสีแดง มีเสาชิงช้าแกนกลางหนึ่งคู่และเสาตะเกียบ 2 คู่ เป็นเสาหัวเม็ดล้วนทำด้วยไม้สักกลึงกลม กระจังและหูช้างไม้เป็นลวดลายไทย
เมื่อสร้างเสาชิงช้าและเทวสถานแล้วเสร็จ ชาวพราหมณ์ที่มาจากเมืองศรีธรรมาโศกราชหรือนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกับพระครูสิทธิชัย (พราหมณ์กระต่าย) ประกอบพิธีโล้ชิงช้าขึ้นเพื่อแสดงเหตุการณ์ตอนพระเจ้าสร้างโลก หมายให้พระราชพิธีนี้เป็นการขอพรวิเศษจากมหาเทพเบื้องบนดลบันดาลให้กรุงรัตนโกสินทร์เป็นปึกแผ่นมั่นคงแข็งแรง ปราศจากศัตรูหมู่ปัจจามิตร
เมื่อทำพิธีโล้ชิงช้าเรียบร้อยแล้วจึงถือว่าการสร้างพระนครได้สำเร็จลงอย่างสมบูรณ์ จากนั้นค่อยประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต่อไป
พิธีโล้ชิงช้าจำได้ว่ามาเลิกเอาเมื่อปีพุทธศักราช 2478 สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ด้วยเห็นว่าเป็นการอันตรายเกินไปและเศรษฐกิจในสมัยนั้นตกต่ำเป็นอันมากรัฐบาลจำเป็นต้องประหยัดงบประมาณในงานพระราชพิธีที่เห็นว่าไม่จำเป็นออกเสีย จึงเหลือแต่พิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย (อย่างไม่ต้องโล้ชิงช้า) และพิธีช้าหงส์ในโบสถ์พราหมณ์เมื่อคราวเฉลิมวันเสด็จเยี่ยมโลกของพระศิวะ
เสาชิงช้านี้มีการซ่อมแซมปรับปรุงมาหลายครั้ง ดังจารึกที่ฐานเสาว่า “ไม้เสาชิงช้าคู่นี้กับทั้งเสาตะเกียบและทับหลัง เมื่อถึงคราวเปลี่ยนเสาเก่า บริษัท หลุยส์ตีเลียวโนเวนส์ จำกัด ซึ่งทำการค้าไม้ ได้ให้สร้างขึ้นใหม่เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ นายหลุยส์ โธมัส เลียวโนเวนส์ ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วนั้น อันเป็นผู้ที่ได้เข้ามาตั้งเคหะสถานอยู่ในประเทศสยามกว่า 50 ปี เสาชิงช้านี้ได้สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 12 เมษายน พุทธศักราช 2463”
จากนั้นก็ได้รับการขึ้นทะเบียนในลำดับที่ 10 ให้เป็น “โบราณวัตถุสถาน” สำคัญของชาติ ประกาศ ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2492 และในปี พ.ศ. 2502 ได้เปลี่ยนกระจังที่เป็นลวดลายผลุงและทาสีใหม่ ในปี พ.ศ. 2513 ตัวเสาชิงช้ามีความชำรุดทรุดโทรมมาก จำต้องเปลี่ยนเสาใหม่เพื่อความมั่นคงแข็งแรง โดยการปฏิสังขรณ์นั้นพยายามรักษาลักษณะเดิมไว้ทุกประการ เมื่อแล้วเสร็จได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2515
นี่คือของคู่บ้านคู่เมือง
เรียกว่าอยู่กันมาแต่ครั้งก่อร่างสร้างตัว สมควรที่เราผู้เป็นลูกหลานจะได้สืบทอดสมบัติชาติด้วยการระวังรักษามิให้เสียหายโดยวิธีการอื่นใดนอกจากเสื่อมโทรมไปตามธรรมชาติ และควรช่วยกันทำนุบำรุงในเมื่อยามชำรุดโดยบริจาคด้วยกำลังทรัพย์ก็ดี หรือด้วยแรงกายก็ดี
2 เทวสถานของทวยเทพ... ในหอเทวาลัยหรือเทวสถานโบสถ์พราหมณ์นั้น ประกอบด้วยโบสถ์ที่ประดิษฐานเทพเจ้าชั้นผู้ใหญ่ในศาสนาพราหมณ์อยู่สามหลังด้วยกัน คือ
1. สถานพระอิศวร เป็นโบสถ์ใหญ่หลังแรกประดิษฐานเทวรูปของพระอิศวร (อิ-สวน) หรือพระศิวะ เหตุเพราะพราหมณ์ที่ประจำอยู่นับแต่เริ่มสร้างพระนครเป็นพราหมณ์ใน ไศวะนิกาย ซึ่งนับถือพระศิวะว่าเป็นใหญ่สูงสุดจึงให้ความสำคัญกับพระองค์มากที่สุดและในขณะเดียวกันก็นับถือพระเป็นเจ้าองค์อื่น ๆ ด้วย
อันนิกายในศาสนาพราหมณ์ได้แบ่งออกเป็น 4 นิกายหลักด้วยกัน คือ
1. นิกาย ไศวะ ถือพระศิวะเป็นใหญ่อีกทั้งนับถือพระนารายณ์ พระพรหม และเทพองค์ต่าง ๆ ประกอบกัน
2. นิกาย ไวษณพ ถือพระนารายณ์เป็นใหญ่อีกทั้งนับถือพระศิวะ พระพรหม และเทพอื่น ๆ ด้วย
3. นิกาย ศากต ถือพระแม่อาทิศักตีหรือพระแม่ปราศักตีเป็นใหญ่ องค์เทวีและเทพนารีทั้งปวงถือกันว่าเป็นองค์อาตมันที่ออกไปจากพระแม่อาทิศักตีนั้นเอง และนับถือพระศิวะ พระพรหม พระนารายณ์ พร้อมทั้งเทพต่าง ๆ ด้วย ในส่วนของวัดพระศรีมหาอุมาเทวีหรือวัดแขกสีลม ก็คือ ศากตนิกาย ที่ถือกันว่าพระชายาจะทรงไว้ซึ่งกำลังและอำนาจของพระสวามีเช่นกัน ดังนั้น การบูชาพระชายาก็จะได้ถึงสองกำลังในเวลาเดียว เช่น วัดแขกสีลมถือพระแม่อุมาปารวตีว่าเป็นใหญ่ บูชาแล้วก็จะได้กำลังพรจากพระองค์และจากพระสวามีคือ พระศิวะ ด้วยเช่นกัน
4. นิกาย สมารต ถือห้าองค์ด้วยกัน คือ พระพิฆเนศวร พระแม่อาทิศักตี พระพรหมา พระนารายณ์ และพระศิวะ ไม่มีองค์ใดใหญ่กว่ากัน
ส่วนลัทธิ-นิกายต่าง ๆ ที่แยกย่อยออกไปจากสี่นิกายหลักนี้มีเป็นเรือนพันด้วยกัน บางลัทธิไม่ถือรูปเคารพใด ๆ เลยแต่ถือธรรมคำสอนเป็นศาสดาก็มี เช่น อารยสมาชหรือฮินดูธรรมสภา เป็นต้น
โบสถ์พระศิวะนี้สร้างโดยวิธีก่ออิฐถือปูนไม่มีพาไล (ส่วนที่แยกออกจากเรือนหรือมุมในเรือนที่ใช้สอยอย่างอื่นเช่น นั่งเล่น โดยไม่ใช่ห้องนอน) หลังคาทำลดหลั่นกัน 1 ชั้น หน้าบันด้านหน้ามีปฏิมากรรมปูนปั้นเป็นรูปพระศิวะมหาเทพและพระแม่อุมาเทวี พร้อมเครื่องมงคลอันได้แก่ สังข์ กลด กุมภ์ อยู่ในวิมานเรือนแก้ว ใต้วิมานมีรูปพระโคนนทิและกลุ่มเมฆ ส่วนหน้าบันด้านหลังไม่ปรากฏรูปปั้นใด ๆ
ในโบสถ์ประดิษฐานเทวรูปพระศิวะซึ่งหล่อจากสัมฤทธ์ประทับยืนปางประทานพรโดยยกพระหัตถ์ทั้งสองข้าง มีความสูง 1.87 เมตร และยังมีเทวรูปต่าง ๆ ขนาดกลางอีก 31 องค์ ประดิษฐานในเบญจา ถัดจากเบญจาไปด้านหลังมีศิวลึงค์ 2 องค์ทำจากหินดำ ด้านหน้าเบญจามีชั้นลดหลั่นประดิษฐานเทวรูปพระพรหมธาดา 3 องค์ ซึ่งพระราชครูวามเทพมุนี (สมจิต รังสิพราหมณกุล) เป็นผู้สร้างในปี พ.ศ. 2514 และเทวรูปพระสรัสวดี 1 องค์ ซึ่ง นายลัลลาล ประสาททวยาส ชาวอินเดียเป็นผู้สร้างถวายเมื่อราว 20 ปีมานี้
ด้านข้างชั้นลดมีแท่นประดิษฐานรูปปูนปั้นพระอิศวรทรงโคนนทิข้างหนึ่งและพระอุมาปารวตีทรงโคนนทิข้างหนึ่ง ซึ่งรูปทั้งสองนี้มีมาเนิ่นนานก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 เสียอีก กึ่งกลางโบสถ์มีเสาชิงช้าสีขาวสูง 2.50 เมตร สำหรับประกอบพิธีช้าหงส์ในพระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวายในวันแรม 1 ค่ำ เดือนยี่ (บูชาพระอิศวร พระอุมา พระคเณศ) วันแรม 5 ค่ำ เดือนยี่ (พระนารายณ์) และวันแรม 3 ค่ำ เดือนยี่ (พระพรหม)
อันพิธีช้าหงส์ในวันแรม 1 ค่ำและวันแรม 5 ค่ำ นั้น เป็นพิธีที่กระทำมานานแล้วแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ทว่าพิธีในวันแรม 3 ค่ำ เป็นพิธีที่เพิ่งเริ่มจัดให้มีขึ้นรัชกาลที่ 9 นี้เองภายหลังจากที่พระราชครูวามเทพมุนี (สมจิต รังสิพราหมณกุล) ได้สร้างเทวรูปพระพรหมธาดาทูลเกล้าทูล-กระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบพระนักษัตร (พระชนมายุ 36 ปี ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2506)
2. สถานพระคเณศ โบสถ์หลังที่สองเป็นโบสถ์ซึ่งอยู่กึ่งกลาง สร้างอย่างก่ออิฐถือปูนมีพาไลทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านหน้าไว้สำหรับปักธูปเทียนของผู้มาสักการบูชา ตัวโบสถ์ไม่มีลวดลายใด ๆ หลังคามีชั้นลดหนึ่งชั้นหน้าบันเรียบ ภายในประดิษฐานเทวรูปพระคเณศหรือพระพิฆเนศวร 5 องค์ องค์ประธานนั้นเป็นโลหะสร้างด้วยเนื้อสัมฤทธิ์มีความสูง 1.06 เมตร อีกสี่องค์เป็นเทวรูปที่แกะจากหินธรรมชาติล้วน คือ หินแกรนิต 1 องค์ หินทราย 1 องค์ และหินเขียว 2 องค์ ทุกองค์มีความสูงประมาณ 95 เซนติเมตรและอยู่ในปางประทับนั่งประดิษฐานบนเบญจา
3. สถานพระนารายณ์ โบสถ์หลังที่สามเป็นโบสถ์ที่อยู่ด้านในสุดทางขวามือ สร้างอย่างก่ออิฐถือปูนเช่นกัน มีพาไลทั้งด้านหน้าและหลัง การก่อสร้างเหมือนอย่างสถานพระคเณศทุกประการ
ภายในประดิษฐานเทวรูป 3 องค์ซึ่งสร้างเป็นซุ้มบุษบกสามหลังวางอยู่บนชั้นยก บุษบกหลังกลางประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ทำด้วยสัมฤทธิ์ประทับยืนมีสี่พระกรทรง คฑา จักร สังข์ อีกพระกรหนึ่งยกขึ้นประทานพร มีความสูง 1.51 เมตร บุษบกหลังซ้ายมือประดิษฐานเทวรูปพระลักษมี หลังขวามือประดิษฐานเทวรูปพระมเหศวรี ซึ่งทั้งสองพระองค์ล้วนเป็นพระมเหสีในองค์พระนารายณ์ผู้เป็นเจ้า กลางโบสถ์มีเสาชิงช้าสีขาวสูง 2.50 เมตร เหมือนโบสถ์พระศิวะ เพื่อใช้สำหรับประกอบพิธีช้าหงส์ในพระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย พระลักษมีและพระมเหศวรีนี้ทำด้วยปูนทั้งสององค์ทั้งที่ของเดิมเป็นสัมฤทธิ์ เนื่องจากเทวรูปทั้งสามล้วนเป็นองค์จำลองด้วยถูกรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามสั่งย้ายเทวรูปทั้งหมดเข้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2485 บอกเหตุผลว่าเกรงพราหมณ์จะรักษาไว้ไม่ไหวจึงเอาของเดิมอายุเป็นร้อยปีไปเอาของใหม่มาแทน
แต่เมื่อจะทำการขนย้ายพระพิฆเนศวรออกจากโบสถ์ไปอีกองค์หนึ่งกลับมีปรากฏการณ์อัศจรรย์คือไม่สามารถนำท่านออกจากประตูโบสถ์ได้ ไม่ว่าจะด้านหน้าหรือด้านหลังแม้ทางหน้าต่างก็ไม่อาจทำได้ พยายามกันจนอ่อนใจจึงต้องเลิกล้มไป ทำให้เทวรูปพระพิฆเนศวรยังเป็นองค์ดั้งเดิมแต่สมัยรัชกาลที่ 1
นี่คือความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน
กล่าวดังนี้เพราะคำสอนของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์มีอยู่ว่า เมื่อจะประกอบพิธีกรรมบูชาเทพเจ้าองค์ใด ๆ หรือทำพิธีสำคัญอะไรก็ตาม จะต้องบวงสรวงบูชาพระคเณศก่อนทุกครั้งไปแล้วค่อยทำการบูชาเทพองค์ที่เราต้องการ หาไม่แล้วพิธีกรรมทั้งหลายที่ประกอบขึ้นจะไม่ประสบผลและความสำเร็จได้เลย
และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระคเณศไม่ปรารถนาจะจากเทวาลัยเก่าของท่านไป เพราะท่านต้องอยู่เป็นหลักชัยในการบำบวงสักการะก่อนเทพองค์อื่น ๆ แม้แต่พระบิดาคือพระศิวะเทพหรือพระมารดาคือพระอุมาปารวตีก็ยังต้องเป็นที่สอง สาม สี่ ห้า ฯลฯ เป็นลำดับไป
3 พระพรหมอยู่ที่ไหน...?
ต่อข้อสงสัยที่ว่าทำไมไม่มีโบสถ์ของพระพรหมให้สักการะทั้งที่เป็นเทพเจ้าซึ่งคนทั่วไปรู้จักกันดี ตอบได้ว่าความเชื่อของคนไทยกับคนอินเดียต่างกันอยู่มาก ชาวฮินดูแท้แล้วย่อมรู้ดีว่าพระพรหมเป็นเทพที่ไม่มีพิธีกรรมเป็นของตนเอง เมื่อท่านไม่มีพิธีกรรมซึ่งเกี่ยวเนื่องกับท่าน เทวสถานที่ต้องใช้ในการประกอบพิธีจึงไม่จำเป็นต้องมี
นี่คือเหตุผล
และไม่แปลกใจเลยที่เห็นคนไทยอยากเอาใจพระพรหม อยากใกล้ชิดพระพรหมจนต้องทำศาลให้อยู่หน้าบ้าน หน้าบริษัทห้างร้านกันไปทั่ว แลดูคล้ายวานพระพรหมให้เป็นพระภูมิเฝ้าบ้าน ก็ถ้าการสักการบูชาไม่มีหรือมีแต่ทำไม่ถูกต้องตามเทวบัญญัติ การตั้งศาลนั้น ๆ ขึ้นมาจะมีประโยชน์อะไร
เป็นโทษล่ะไม่ว่า
แต่เพื่อความสมบูรณ์ในการบูชาเทพเจ้าผู้ใหญ่ในศาสนาพราหมณ์ พระราชครูวามเทพมุนี (สมจิต รังสิพราหมณกุล) จึงทำการหล่อเทวรูปท้าวมหาพรหมธาดาเทวตาขึ้น และทำเทวาลัยประดิษฐานอยู่กลางบ่อน้ำหน้าโบสถ์พระศิวะในปี พ.ศ. 2515 เทวสถานโบสถ์พราหมณ์แห่งนี้ได้รับการจดทะเบียนเป็น “โบราณวัตถุสถาน” สำคัญของชาติ ประกาศ ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2492
ความสำคัญอย่างนี้มิใช่เป็นแค่โบราณสถาน แต่เป็นศูนย์รวมความหลังอันสำคัญยิ่งเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างกรุงเทพมหานครให้พวกเราได้อยู่อาศัย
เทวสถานแห่งนี้มีประมุขพราหมณ์และคณะประกอบพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์มาเนิ่นนานกว่า 200 ปี ซึ่งทุกพิธีกรรมประกอบขึ้นอย่างถูกต้องตามหลักในศาสนาพราหมณ์ฮินดู มิใช่ทำอย่างด้นเดาเอาเองเช่นตำหนักทรงเจ้าพ่อเจ้าแม่หรือ พ่อหมอ ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะพราหมณ์ทุกท่านล้วนสืบทอดเชื้อสายมาจากอินเดียโดยตระกูล รับการฝึกฝน ศึกษามาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายเริ่มตั้งแต่รุ่นแรกที่ตั้งกรุง
และที่สำคัญยิ่งคือคณะพราหมณ์ทุกยุคสมัยล้วนเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เสมอมา ดังนั้น การประกอบพิธีจึงจำเป็นยิ่งที่ต้องให้ถูกถ้วน แม่นยำ และศักดิ์สิทธิ์สูงสุด สมกับที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย และสมนามที่เป็นพราหมณ์ ผู้เป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้าและเหล่ามนุษย์
4 ตระกูลพราหมณ์ในสยาม...
ศาสนาพราหมณ์เข้ามาสู่ดินแดนแคว้นสุวรรณภูมินี้ก่อนสมัยทวารวดี เป็นที่แน่ชัดว่ามาพร้อมกับคณะพราหมณ์ที่ติดตามพระอรหันตเจ้าสองพระองค์ผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนนี้คือพระโสณะเถระกับพระอุตตระเถระ ซึ่งพระเถระทั้งสองได้ปักหลักพระพุทธศาสนาลงที่บ้านคูบัว นครปฐม ในราวปี พ.ศ. 303 ดังที่ทราบ และมีหลักฐานชัดเจนว่าศาสนาพราหมณ์ก็มาด้วยกันอันดูได้จากเทวาลัยสถานที่ประกอบพิธีกรรมและปูชนียวัตถุในศาสนา อาทิ เทวรูป ศิวลึงค์ รางน้ำมนต์ เป็นต้น โดยเฉพาะแถบนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และที่ตำบลพงตึก จ.กาญจนบุรี
ราวปี พ.ศ. 1800 พระพุทธศาสนาแห่งลังกาวงศ์ได้แพร่จากอินเดียเข้าสู่กรุงสุโขทัย กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงทรงเอาพระทัยใส่และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามาก ขณะเดียวกันก็ทรงรับธุระในศาสนาพราหมณ์เช่นกัน ตัวอย่างคือในราชสำนักจะมีพราหมณ์ระดับ พระศรีมโหสถและพระมหาราชครูเป็นปุโรหิต ถวายความรู้วิทยาการของกษัตริย์และนักรบ
ทั้งยังประกอบพิธีกรรมตามคัมภีร์พระเวทอันสืบเนื่องมาเป็นพระราชประเพณีตราบจนทุกวันนี้ สาธกให้เห็นชัดคือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระราชพิธีตั้งหลักเมือง พระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย (โล้ชิงช้า) พระราชพิธีบูชาเทพนพเคราะห์ประจำปี (พราหมณ์ไปประกอบพิธีถวายในพระราชวัง) พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นต้น
ในส่วนปลีกย่อยอันแพร่หลายไปมากก็มีปรากฏจนทุกวันนี้เช่น การดูฤกษ์ยาม การดูทิศดูวันประกอบการมงคล การตั้งศาลพระภูมิ การบูชาเทพเจ้า การสะเดาะเคราะห์ต่ออายุ การทำและประพรมน้ำมนต์ การปลุกเสกลงอักขระเลขยันต์ การเบิกเนตรพระพุทธรูป-เทวรูป การใช้สายสิญจน์ในพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องในศาสนาพราหมณ์ทั้งสิ้น
พุทธแท้แล้วย่อมไม่มี
เห็นได้ว่าศาสนาทั้งสองนี้มีความใกล้ชิดกันมากผสมปนเปกันจนแยกแทบไม่ออก อาจแยกได้โดยทางวิชาการ แต่ในความประพฤติแล้วย่อมเป็นหมดหวัง ก็ถ้าไม่ใช่เรื่องชั่วเสียอะไรคงเอาไว้ก็อาจดีกว่าเลว ตระกูลของพราหมณ์เมื่อเข้าสู่สยามได้ปรับตัวให้สามารถอยู่ร่วมกันได้กับคนไทยซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาเป็นสรณะสูงสุด พราหมณ์จึงลดบทบาทที่อาจขัดต่อความรู้สึกคนไทยไปหลายอย่าง เช่น การใช้คนหรือสัตว์มีชีวิตในการบูชายัญ การแยกตนถือชั้นวรรณะ การสมรสในคนต่างวรรณะกัน เป็นต้น ฉะนั้นการทำยัญญกรรมต่าง ๆ จึงอาศัยสิ่งไม่มีชีวิตแล้วหรือเครื่องสังเวยที่มิใช่ของคาว การถือแบ่งชั้นวรรณะก็ไม่ปรากฏคงไว้เพียงการถือเพื่อรักษาธรรมเนียมของตระกูล การสมรสก็อนุโลมทั่วไปคงถือเฉพาะสายเลือดฝ่ายบิดาที่จะบวชเรียนถือเพศเป็นพราหมณ์ต่อไปได้ เหตุนี้ผู้คนในสยามประเทศที่มีสายเลือดแห่งพราหมณ์จึงปรากฏอยู่มากมาย มีทั้งที่รู้ตัวเองและที่ไม่รู้ตัวว่ามีสายเลือดพราหมณ์อยู่ก็มิใช่น้อย ทั้งนี้เพราะการขาดจดหมายเหตุและการบันทึกนั่นเอง เท่าที่ทราบตัวอย่างตระกูลพราหมณ์สำคัญแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาพอลำดับได้ดังนี้
พราหมณ์ศิริวัฒนะ ดำรงยศเป็น “พระมหาราชครูพระราชปุโรหิตาจารย์ราชสุภาวดีศรีบรมหงษ์วงศ์บริโสตมพราหมณ์ทิชาจารย์” พระมหาราชครูท่านนี้ได้ให้กำเนิดลูกหลานและเป็นต้นสกุลที่สำคัญสืบทอดจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์มากมาย คือ
1. เจ้าพระยาพลเทพ (ทองอิน) เป็นต้นสกุล ทองอิน . อินทรพล 2. กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ (มุก) เป็นต้นสกุล นรินทรกุล 3. เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เป็นต้นสกุล สิงหเสนี 4. เจ้าพระยาสุรินทรราชา (จันทร์) เป็นต้นสกุล จันทรโรจวงศ์ 5. พระยาทัศฎาจาตุรงค์ (ขนมต้ม) เป็นต้นสกุล ชัชกุล 6. พระยาจินดารังสรรค์ (แก้วแขก)เป็นต้นสกุล ภูมิรัตน์ 7. เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี)เป็นต้นสกุล บูรณศิริ 8. หลวงอาสาสำแดง (แตง) เป็นต้นสกุล สุจริตกุล 9. พระยาราชโยธา (ทองอยู่) เป็นต้นสกุล ศิริวัฒนกุล
นี่เป็นเพียงลูกหลานในสายของพราหมณ์ศิริวัฒนะเพียงท่านเดียว ซึ่งมีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หากตระกูลที่มิได้บันทึกไว้จะมีอีกสักเท่าใด ท่านใดที่อ่านพบว่าตนเองหรือเพื่อนพ้องมีนามสกุลเดียวกับที่ลงไว้ พึงทราบเถิดว่าท่านเป็นพราหมณ์โดยสายเลือด ยิ่งเฉพาะท่านที่เป็นชายย่อมสามารถบวชรับสายยัชโญปวีตแล้วศึกษาประกอบพิธีกรรมได้ทันที
ถึงกระนั้นผมใคร่ขอแถมสกุลพราหมณ์ที่ยังมีอีกคือ รัตนพราหมณ์ รังสิพราหมณกุล วิริยะบูรณะ และ นาคะเวทิน นี่ก็พราหมณ์แท้ เพราะการจะเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่นั้นมิได้อยู่ที่การถือบวชเพียงอย่างเดียวเหมือนชายที่ประสงค์บวชเป็นพระภิกษุในศาสนาพุทธ การอุปสมบทนั้นใครก็ทำได้ถ้ามีคุณสมบัติแห่งมนุษย์เพียงพอ แต่พราหมณ์นั้นมิใช่ เพราะคุณสมบัติหลักคือต้องเป็นพราหมณ์มาโดยชาติตระกูลคือสายเลือดเท่านั้น
การประกอบพิธีพราหมณ์ในราชสำนักนั้นมีมาอย่างเข้มข้นทุกรัชสมัย ครั้นตกถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎร์ก็ให้เลิก กรมพิธีพราหมณ์ กระทรวงวัง ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นหน่วยงานของรัฐบาลเสีย หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้พราหมณ์ปฏิบัติพระราชพิธีสำหรับพระองค์และพระราชวงศ์ กับทั้งประเทศชาติต่อไป โดยเทวสถานโบสถ์พราหมณ์นี้สังกัดสำนักพระราชวัง และมีตำแหน่งการปกครองจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนี้
1. พระมหาราชครู 2. พระราชครู 3. พระครู 4. พราหมณ์พิธี
ในส่วนของลำดับตำแหน่งพราหมณ์ในพระราชสำนักก็ประกอบด้วย
1. พระมหาราชครู / พระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าหรือประธานพระครูพราหมณ์ 2. พระครูอัษฎาจารย์ ตำแหน่งเป็นผู้ช่วยฝ่ายขวา 3. พระครูสตานันทมุนี ตำแหน่งเป็นผู้ช่วยฝ่ายซ้าย 4. พระครูศิวาจารย์ ตำแหน่งเป็นผู้ช่วยทั่วไป 5. พราหมณ์ ผู้จัดเตรียมพิธีกรรม
5 ศาสนิกพราหมณ์สายต่าง ๆ...
ในสมัยรัชกาลที่ 5 พราหมณ์ชาวอุตตรประเทศและปัญจาบได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยที่ศาสนิกพราหมณ์ที่มาจากปัญจาบทำกิจการค้าขายผ้าถึง 99 % ส่วนศาสนิกพราหมณ์ที่มาจากอุตตรประเทศประกอบกิจการประเภทรับจ้างและราชการ เป็นต้น
ในพ.ศ. 2422 ศาสนิกพราหมณ์จากทางใต้ของอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดสร้างศาลาหลังเล็ก ๆ ขึ้นเพื่อประดิษฐานเทวรูปของพระแม่อุมาเทวีเพื่อกราบไหว้บูชา ซึ่งต่อมาได้พัฒนาขึ้นจนเป็น วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม) ครั้นเมื่อจำนวนศาสนิกมากขึ้นจึงไปจัดสร้างวัดวิษณุโดยศาสนิกพราหมณ์อุตตรประเทศร่วมกัน ศาสนิกชาวปัญจาบนั้นแบ่งออกออกเป็น 2 พวก คือ ซิกข์ และ พราหมณ์ฮินดู ได้ใช้สถานที่ร่วมกันปฏิบัติศานกิจที่บริเวณหลังวังบูรพา เมื่อคนมากขึ้นจึงแยกกัน โดยที่พราหมณ์ฮินดูไปสร้างฮินดูสมาชขึ้นบริเวณใกล้เสาชิงช้าซึ่งภายหลังกลายเป็น วัดเทพมณเฑียร
ต่อมาชาวภารตะรวมกำลังกันจัดตั้งสถาบันขึ้นพร้อมกับสมาคมฮินดูธรรมสภา เรียกว่า อารยสมาช เป็นกลุ่มพราหมณ์ที่ถือธรรมะเป็นศาสดา ไม่บูชานับถือรูปเคารพใด ๆ
6 วัตถุมงคลของโบสถ์พราหมณ์...
เทวสถานแห่งนี้แม้จะมีประวัติการก่อสร้างและคงอยู่มายาวนานควบคู่กับพระนครหลวงของเรา ก็หาได้เคยสร้างเครื่องมงคลอันใดให้เป็นที่แพร่หลายไม่ เหตุเพราะไม่มีความจำเป็นอะไรประการหนึ่ง และเพราะขึ้นตรงต่อสำนักพระราชวังในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประการหนึ่ง ดังนั้น การทำสิ่งใดจึงต้องรอบคอบและถูกถ้วนเสมอ เพื่อมิให้กระทบกระเทือนถึงเบื้องพระยุคลบาทได้
ฉะนั้น แต่ไหนแต่ไรตลอด 220 ปีมานี้ ทุกพิธีกรรม ทุกวัตถุมงคลที่สร้างล้วนเป็นไปเพื่อทูลเกล้า ฯ ถวายแด่องค์พระประมุขและพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะถึงแก่ประชาชนได้ นอกจากการเปิดเทวสถานให้เข้าไปสักการะองค์เทพเฉพาะในวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์ตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น เพียงสองวันเท่านั้น
ข่าวที่ผมรับทราบจากโทรทัศน์เคยมีว่าคณะพราหมณ์ได้สร้างเทวรูปพระพรหมทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สร้างเทวรูปพระตรีมูรติทองคำทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเทวรูปพระนารายณ์ทองคำทูลเกล้า ฯ ถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เป็นต้น
ผมอนุโมทนาอยู่เงียบ ๆ คนเดียว
จวบจนปีหนึ่งรู้สึกจะเป็น พ.ศ. 2539 คณะพราหมณ์นำโดยพระราชครูวามเทพมุนี (ชวิน รังสิพราหมณกุล) ได้ทำการสร้างเทวรูปพระพิฆเนศวรเนื้อนวโลหะหน้าตัก 9 นิ้วขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และตอนนี้เองที่สายฝนแห่งบุญกุศลได้โปรยปรายตกต้องถึงประชาชนชาวสยาม
ด้วยคณะพราหมณ์มีมติให้สร้างเทวรูปพระคเณศขนาดหน้าตัก 3 นิ้ว 5 นิ้ว และ 9 นิ้วให้ประชาชนบูชาด้วย จำได้เลา ๆ ว่าหน้าตัก 9 นิ้วองค์ละหนึ่งหมื่นสองพันบาทหรือยังไงนี่แหละราคาค่อนข้างสูงเพราะศิลปะที่งดงามจำลองจากองค์จริงในเทวสถานได้เหมือนสุด ๆ อีกทั้งเนื้อหาชนวนมวลสารยังเป็น "นวโลหะ" ทุกองค์
พูดถึงการปรุงเนื้อพระกระแสต่าง ๆ แล้ว ย่อมหมดสงสัยได้แม้เป็นคณะพราหมณ์ เพราะในสมัยแห่งการเทพระกริ่งยังเฟื่องฟูอยู่ในยุคแห่งองค์สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทโว) วัดสุทัศน์เทพวรารามนั้น ก็ได้พราหมณ์แห่งเทวสถานนี้แลเป็นผู้คำนวณฤกษ์ บวงสรวงเทวดาฟ้าดิน บูชาพระเกตุ บูชาฤกษ์ ประกาศสังเวยเทวดา และร่วมอยู่ในพิธีเททองจนเสร็จสิ้น
จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการประกอบพิธีพุทธาภิเษก ซึ่งก็พราหมณ์ที่นี่อีกจัดตั้งราชวัติฉัตรธงโยงสายสิญจน์ร่วมกันในพิธี ตลอดจนทำน้ำเทพมนต์โดยพราหมณ์ควบคู่กับการทำน้ำพระพุทธมนต์โดยสงฆ์
ไม่รู้กี่ครั้งกี่วาระ
จนตกทอดเรื่อยมาถึงสมัยแห่ง พระมงคลราชมุนี (สนธิ์ ยติธโร) พระศรีสัจจญาณเถร (ประหยัด ปัญญาธโร) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จันทสิริ) เป็นอาทิ แล้วอย่างนี้จะไม่ให้พราหมณ์ที่นี่เก่งกล้าสามารถอย่างไรได้ มีหลักฐานปรากฏชัดว่าคณะพราหมณ์แห่งเทวสถานได้ศึกษาหาความรู้แลกเปลี่ยนวิชากันในสายวัดสุทัศน์ ฯ ยุคต้น นับแต่สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวัฒโน) พระอุปัชฌาย์ในสมเด็จพระสังฆราชแพ เรื่อยมาจนถึงท่านเจ้าคุณประหยัดอันเป็นศิษย์ในสมเด็จพระสังฆราชแพรุ่นเล็ก
นวโลหะน่ะหรือ ?
ที่นี่ก็ทำเป็น ไปชมได้เลยกับโลหะธาตุ 9 ชนิดที่ตั้งแสดงไว้ในโบสถ์พระศิวะ
ครั้นออกพระคเณศนวโลหะให้บูชาเป็นสมบัติทั่วกัน โดยไม่ต้องประกาศใด ๆ ไม่กี่เพลาก็หมดไปจากเทวสถานอย่างรวดเร็ว แม้เจ้าหน้าที่หรือพราหมณ์ในเทวสถานเองก็ยังไม่ทันได้บูชาเก็บไว้เป็นสมบัติตน เห็นชัดถึงความเชื่อถือในเครดิตของคณะพราหมณ์ที่นี่และเลื่อมใสในมหิทธิฤทธิ์ของเทพเจ้าที่ประทับในโบสถ์พราหมณ์
ก็ที่นี่เป็นโบสถ์พราหมณ์อายุสองร้อยกว่าปีอบอวลด้วยพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ไม่รู้กี่ร้อยพันหมื่นพิธี ผู้ประกอบพิธีเป็นพราหมณ์ที่สืบเชื้อสายและรับวิชามาอย่างถูกต้องตามโบราณาจารย์วางแบบไว้ เป็นผู้ชำนาญในฤกษ์และวันอันมงคล ชาญในพระเวทที่อาจเข้าเฝ้าเหล่าเทพเจ้าเบื้องบนได้โดยผ่านทางพิธีกรรม
เช่นนี้แล้วก็ไม่มีอะไรให้สงสัย
แว่วมาว่าโบสถ์พราหมณ์อาจจัดสร้างพระคเณศเป็นรุ่นที่สองด้วยทนเสียงเรียกร้องไม่ไหว อีกทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่มีในเทวสถานแห่งนี้ก็เป็นภาระอันใหญ่ที่ผู้ดูแลต้องขวนขวายหามารักษา ทั้งเรื่องของ น้ำประปา โทรศัพท์ ความชำรุดทรุดโทรมของสถานที่ซึ่งมีอายุถึง 220 ปีอันต้องคอยบูรณะกันอยู่เสมอ พิธีกรรมที่ต้องประกอบด้วย ผลไม้ ดอกไม้ ธูป เทียน สายสิญจน์ และอีกจิปาถะซึ่งคนเคยทำพิธีหรือเคยอยู่ในพิธีจะรู้ดีว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงใด
ไม่ใช้เงินจะใช้อะไร...?
เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ถ้าจะว่าไปก็คือหน่วยงานราชการเล็ก ๆ หน่วยหนึ่ง ผมไม่ทราบหรอกว่าเรื่องปัจจัยปรุงแต่งภายในของเขาจะเป็นอย่างไร ทราบเพียงว่า แต่ไหนแต่ไรคำว่าหน่วยงานราชการถ้าไม่สำคัญจริงแล้วงบประมาณเป็นอันว่าได้น้อยเหลือกำลัง
ต่อจากนั้นแล้วจงขวนขวายช่วยตนเองเถิด
ในปี พ.ศ. 2545 นี้โบสถ์พราหมณ์ต้องขวนขวายช่วยเหลือตัวเองครั้งใหญ่ ด้วยปรากฏว่าโบสถ์ทั้งสามหลังมีความชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมาก อีกทั้งเครื่องบนของตัวโบสถ์ก็ไม่แน่ว่าจะอยู่ในสภาพที่ดีพอหรือไม่ เพราะตลอดสองร้อยกว่าปีไม่เคยได้ปฏิสังขรณ์กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ดังนั้น เทวสถานจึงทำเรื่องแจ้งไปยังสำนักพระราชวังถึงการนี้ ทางสำนักฯ ก็มอบปัจจัยมาจำนวนหนึ่งซึ่งแน่นอนว่าไม่พอกับการบูรณะ เทวสถานจึงต้องหาปัจจัยเพื่อการซ่อมแซมโดยวิถีอื่นอีก ในที่สุดก็มีช่องทาง เมื่อทำการรื้อกระเบื้องมุงหลังคาโบสถ์ทั้งสามหลังลงมาแล้วพบว่ากระเบื้องหลายแผ่นแตกร้าวชำรุดเป็นอันมาก จำต้องล้างแล้วคัดแยกนำกระเบื้องที่ดีกลับไปใช้ใหม่ ส่วนที่แตกร้าวก็มีมติให้นำมาป่นเป็นผงละเอียดเพื่อสร้างเป็นพระพิมพ์ของมหาเทพทั้งสามองค์
เพราะเหตุใด ?
ก็กระเบื้องดังว่านั้นมีอายุถึงสองร้อยกว่าปี ทำมาแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ทีเดียว ซ้ำยังผ่านพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ มานับร้อยนับพันพิธี อบอวลด้วยพระเวทและมนตรานับไม่ถ้วนบทที่เหล่าพราหมณ์สาธยายเป็นเทวบูชา พร้อมทั้งพิธีเทวาภิเษกที่จัดอย่างมโหฬารไม่รู้อีกกี่พิธี
อัญเชิญเทพพรหมทั่วท้องจักรวาล
ความศักดิ์สิทธิ์ย่อมซึมซับไปทั่วทุกแห่งหนในอาณาบริเวณที่กำหนดไว้ว่าเป็น เทวาลัย คือที่อาศัยแห่งเทพหรือเขตแห่งเทวดานั่นแล
ดูแต่กระเบื้องวัดไร่ขิงนั่นปะไร รื้อลงมากองทิ้งอยู่ข้างโรงลิเกอย่างไม่รู้จะกำจัดอย่างไรดี อยู่ ๆ มามีคนขี้เมาชักปืนออกยิงเล่นกลับกระสุนด้านเสียนี่ นึกว่าบังเอิญเลยหิ้วไปยิงต่อที่บ้านทำยังไงก็ยิงไม่ออก พอดังเข้าคนก็ลุยจนเละร้อนถึงทางวัดต้องเข้ามาคุม เห็นค่ากันล่ะทีนี้
เอามาป่นทำพระเสียแหละดี ความที่มีกระเบื้องเยอะทุกวันนี้ก็ยังมีพระให้เช่ากันที่วัดไร่ขิง องค์ละยี่สิบบาทเอง ทำเป็นพระเครื่องแล้วยิ่งมีอานุภาพ มีประสบการณ์กันน่าดู ไปวัดไร่ขิงเมื่อไรฟังกันเพลินทีเดียว ถามชาวบ้านดูเถิดว่าคุณวิเศษในหลวงพ่อวัดไร่ขิงนั้นมีเท่าไร เล่าสามวันสามคืนก็ไม่หมด
เห็นไหมล่ะ อานุภาพกระเบื้อง รมมนต์ โบสถ์พราหมณ์เขาก็มีพิธีไม่ต่างกัน ดังนั้น เมื่อทำพระเครื่องเป็นครั้งแรกในชีวิตย่อมต้องพิเศษและยิ่งใหญ่ไม่ให้เสียชื่อคณะพราหมณ์ผู้ชาญพระเวทและเป็นเจ้าแห่งพิธีกรรม
ปฐมเหตุเริ่มที่เทวสถานทำการปฏิสังขรณ์โครงหลังคาโบสถ์ทั้งสามหลังและเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาอายุ 218 ปีในบางส่วน คือแยกคัดล้างเอาแผ่นที่ดีกลับขึ้นไปใช้งานต่อ ในแผ่นที่แตกร้าวชำรุดซึ่งมีจำนวนไม่น้อย ก็นำมาบดเป็นผงละเอียดปรุงร่วมกับมวลสารศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ที่ทางเทวสถานมีเพื่อการทำเป็นพระพิมพ์ กำหนดว่าจักแกะพิมพ์ขึ้น 3 รูปแบบ ประกอบด้วยพิมพ์รูปเหมือนของ พระศิวะ พระนารยณ์ และ พระพิฆเนศวร โดยมอบให้ อาจารย์บุญส่ง นุชน้อมบุญ อาจารย์กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบพระพิมพ์ และในวันขึ้นแบบแม่พิมพ์ตรงกับวันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2545 อันเป็นวันธงชัยตามหลักโหราศาสตร์ ได้อาราธนาพระอาจารย์สิงทน นราสโภ วัดพระพุทธชินราช พุทธชิโนฮิลล์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มานั่งปรกเป็นปฐมฤกษ์และขณะที่ขึ้นแบบนั้นพราหมณ์ก็ได้ทำพิธีบวงสรวงบูชาฤกษ์พร้อมกัน
เมื่อบล็อคและมวลสารครบถ้วนจึงได้ทำการประสมเนื้อกดพระทั้งสามพิมพ์ตามฤกษ์ยามที่กำหนด ระหว่างนั้นก็เตรียมการประกอบพิธีเทวาภิเษกอย่างยิ่งใหญ่มโหฬารซึ่งหลายท่านอาจไม่ทราบ เพราะทางเทวสถานไม่ได้ประชาสัมพันธ์หนักหน่วงดังเช่นวัดวาต่าง ๆ อย่างที่เราพึงคุ้นหู นับว่าดีไปอย่าง ด้วยการประกอบพิธีที่เป็นไปอย่างเงียบเชียบไม่อึกทึกวุ่นวายย่อมทำสมาธิให้เกิดกับผู้ประกอบพิธีทุกท่าน แม้ผู้อยู่ร่วมพิธีก็ยังสัมผัสได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งครอบคลุมในทุกอณูของบรรยากาศ กำหนดการมหาเทวาภิเษกได้จัดขึ้นตั้งแต่วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 ถึง วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 รวม 4 วัน 4 คืน
โดยก่อนประกอบพิธีเทวาภิเษกนั้น ท่านพระราชครูวามเทพมุนีหัวหน้าคณะพราหมณ์ได้นำพระพิมพ์ทั้งสามแบบ แบ่งแยกกันลงบรรจุเป็นลำดับชั้นในตู้แก้วใบมโหฬารนับได้สามตู้
ทำไมต้องแยก...?
เพราะเทพเจ้าทั้งสามองค์ย่อมต้องได้รับการปลุกเสกและประกอบพิธีกรรมโดยวิธีการแลพระเวทอันพึงสวดซึ่งต่างกัน ต่างแม้กระทั่งน้ำที่จะสรง ดอกไม้ที่จะโปรย ใบไม้ที่จะบูชา...
ละเอียดประณีตดีไหม !!
เรื่องสุกเอาเผากินหรือทำอย่างลวก ๆ ลน ๆ ไม่สามารถมีได้ในกลุ่มพราหมณ์ที่ทรงภูมิรู้แท้จริง ที่สำคัญเป็นผู้สนองงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสียด้วย
ต้องรู้ให้จริง...ต้องทำให้เป็น...
และในตู้ทั้งสามใบใช่จะเป็นเพียงตู้ใส่พระพิมพ์ก็เปล่า หากบรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ถือว่าเป็นมหามงคลอย่างเอกอุ เพื่อหวังผลในความชุ่มชื่นเยือกเย็นและเบิกบาน น้ำเป็นสิ่งที่ให้ชีวิต ทุกสรรพสิ่งถ้าขาดน้ำก็ตาย ศาสนาพราหมณ์มีความเชื่ออันหนึ่งว่าน้ำเป็นสิ่งที่ชำระทุกข์โทษและบาปได้ แต่น้ำนั้นจำเป็นต้องมาจาก...
แม่น้ำคงคา
ด้วยเชื่อว่าแม่น้ำคงคาเป็นสายน้ำที่ไหลมาจากมวยผมแห่งพระศิวะ เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์เพราะไหลมาจากภูเขาหิมาลัยที่ชาวฮินดูศรัทธาว่าเป็นจุดตั้งเขาไกรลาส ทิพยวิมานของพระศิวะนั่นเอง
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าพระราชครูวามเทพมุนีได้เดินทางไปอัญเชิญน้ำจากแม่น้ำคงคาในประเทศอินเดียมาด้วยตัวเอง เทลงผสมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์อีกสองแหล่งคือ น้ำมนต์สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 220 ปีหรือน้ำมนต์นครฐานสูตร (นะคะระฐานะสูตร) และ น้ำเทพมนต์อายุ 100 ปีของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์เอง
การแช่น้ำมนต์นั้นมิได้แช่เพียงแค่วันสองวัน ทว่าบรรจุอยู่อย่างนั้นนับแต่วันลงแช่ครั้งแรกคือวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคมจนตลอดพิธีกรรม 4 วัน 4 คืน และแม้พิธีเทวาภิเษกแล้วเสร็จก็ยังไม่ได้นำขึ้นหากปล่อยให้เอิบอาบอย่างนั้นอยู่ในโบสถ์อีก 2 วัน จึงทยอยกู้ขึ้นมาทีละตู้เริ่มแต่พระคเณศ พระศิวะ พระนารายณ์ เป็นลำดับ และอบไว้ในโบสถ์อีก 7 ราตรี
นี่แหละ !แช่น้ำมนต์ของจริง
พิธีในวันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 เริ่มขึ้นแต่เช้ามืดในเวลา 05.30 น. อันเป็นอุดมมงคลฤกษ์ โดยพระราชครูวามเทพมุนี (ชวิน รังสิพราหมณกุล) เป็นผู้ประกอบพิธีบูชาฤกษ์และบวงสรวงเทพเจ้าเหล่าพรหมตลอดทั่วทั้งสามแดนโลกธาตุ อัญเชิญท่านผู้วิเศษมาอำนวยพรให้การประกอบพิธีเป็นไปโดยราบรื่นและศักดิ์สิทธิ์ทุกขั้นตอน
วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 เริ่มพิธีในเวลา 09.00 น. โดยคณะพราหมณ์จากอินเดียใต้ซึ่งประจำอยู่ที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม) ทำพิธีบวงสรวงมหาเทพทั้งสามพระองค์ และพระแม่ศักตีเพื่อขอพรจากพระองค์ให้วัตถุมงคลมีอานุภาพไพศาล
จากนั้นจึงเริ่มประกอบพิธีเทวาภิเษกตามแบบฉบับของพราหมณาจารย์ในอินเดียตอนใต้ ซึ่งเครื่องบูชาในพิธีของพราหมณ์จากวัดพระศรีมหาอุมาเทวีนี้ นับว่าสวยงามอลังการมาก ดูเข้มขลังทรงอานุภาพ น่าศรัทธาอย่างยิ่งยวด สมเป็นสาวกของพระแม่อุมาปารวตีผู้ทรงไว้ซึ่งอานุภาพและอิทธิฤทธิ์อย่างยากจะหาเทพนารีองค์ใดมาเทียบเทียม
ขนาดพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ เสด็จเตี่ย ก็ยังทรงให้ความเคารพเป็นล้นพ้น ต้องนำภาพวาดรูปเหมือนพระแม่อุมาเทวีขนาดใหญ่ยักษ์ประดิษฐานไว้กราบไหว้บูชาในพระตำหนักดำ อันเป็นสถานที่เก็บเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงและใช้ประกอบพิธีกรรมในพระองค์ ชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะแม่นาคก็ทรงเก็บไว้ที่นี่เช่นกัน
ผมได้ยินมามากรายที่กล่าวขานถึงอานุภาพในองค์พระอุมาเทวี โดยผู้ยกย่องนั้นล้วนเป็นผู้ทรงภูมิในทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน ท่านเหล่านั้นได้พบเจอพระอุมาโดยสมาธิอย่างไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ก็สรรเสริญว่าเป็นเทพชั้นสูงมีบารมีมาก โดยเฉพาะทางอิทธิฤทธิ์เชิงบู๊อย่างคงกระพันกันเขี้ยวงานี่ฉมังนัก ไว้มีโอกาสผมจะเล่าสู่กันฟัง
พิธีเทวาภิเษกในวันนี้ดำเนินอย่างยาวนานและสิ้นสุดลงในเวลา 20.00 น. เป็นอันว่าจบสมบูรณ์ในส่วนของพราหมณ์จากอินเดียตอนใต้
วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 เริ่มพิธีในเวลา 15.00 น. โดยบัณฑิต วิทยาธร สุกุลพราหมณ์ และ พราหมณ์จากอินเดียตอนเหนือ ทำพิธีบวงสรวงมหาเทพในศาสนาทั้งหมดโดยเฉพาะ พระศิวะ พระนารายณ์ และ พระคเณศ ผู้เป็นเจ้าของงาน โดยจัดพิธีกองกูณฑ์อัคคีหรือการบูชาไฟ เผากำยาน น้ำมันเนย อัญเชิญเทพเจ้าลงมาร่วมพิธี
ประกอบพิธีสรงน้ำผ่านใบไม้มงคลประจำองค์เทพเจ้า โดยพระศิวะสรงน้ำศักดิ์สิทธิ์ผ่านใบมะตูม พระนารายณ์สรงผ่านใบต้นตุลสี (ต้นกะเพรา) และพระคเณศสรงผ่านใบหญ้าคา
ซึ่งในขั้นตอนนี้เองที่มีเรื่องอัศจรรย์เกิดขึ้น แต่เหตุการณ์นี้สายตามนุษย์เช่นเรา ๆ ท่าน ๆ ไม่อาจแลเห็น หากเลนส์กล้องซึ่งมีความไวแสงสูงกลับจับภาพประหลาดบางอย่างได้คือ...
ขณะที่พราหมณ์กำลังทำพิธีสรงน้ำศักดิ์สิทธิ์ผ่านใบมะตูมในหลัวไม้ไผ่อยู่นั้น เกิดมีหมอกควันสีขาวสะอาดลอยครอบคลุมร่างกายของพราหมณ์ทุกท่านไว้ และพาดผ่านเป็นแนวยาวไปจนถึงตู้ที่บรรจุพระพิมพ์อยู่ ซึ่งตู้ที่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่กำลังสรงและใบมะตูมที่น้ำกำลังผ่านนั้น...
เป็นตู้พระศิวะ !!
เทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ในสามโลก เทพบดีผู้ปกครองหมู่เทพที่เป็นสัมมาทิฏฐิ และเทวาธิราชผู้เป็นเจ้าของโบสถ์หลังที่กำลังประกอบพิธี
นี่อาจเป็นประจักษ์พยานที่หนึ่งซึ่งจะกล่าวได้หรือไม่ว่า พระมหาเทพได้ลงมาร่วมในพิธีสมดังคำสวดอ้อนวอน อำนวยพรให้พระพิมพ์มีผลานุภาพเป็นไปตามที่ผู้บูชาอธิษฐาน และถ้าพยานปากที่หนึ่งนี้ทุกท่านว่ายังมีน้ำหนักไม่พอ อีกสักครู่ผมจะพาท่านไปพบพยานปากที่สอง
ครั้นบวงสรวงแล้วเสร็จจึงประกอบพิธีเทวาภิเษกตามแบบอย่างบูรณาจารย์ของอินเดียตอนเหนือ จบพิธีลงอย่างสมบูรณ์ในเวลา 18.30 น.
วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 จัดพิธีมหามังคลา-เทวาภิเษกโดยนิมนต์พระเถรานุเถระที่ทรงวิทยาคุณมาร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสก ทั้งนี้ได้จัดให้มีการสวดพุทธาภิเษกตามแบบอย่างที่ถูกต้องในทางสงฆ์ดังเช่นที่วัดสุทัศน์ ฯ ได้ถือปฏิบัติมา มีกำหนดการดังนี้
1. นิมนต์พระธรรมยุติเจริญพระพุทธมนต์ และ สวดมังคลาภิเษก โดยพระปฏิบัตินั่งปรก 2. นิมนต์พระมหานิกายเจริญพระพุทธมนต์ และ สวดมังคลาภิเษก โดยพระปฏิบัตินั่งปรก 3. นิมนต์พระรามัญเจริญพระพุทธมนต์ และ สวดมังคลาภิเษก โดยพระปฏิบัตินั่งปรก
เริ่มพิธีในเวลา 10.01 น. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม เป็นองค์ประธานจุดเทียนชัยและคณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารสวดคาถาจุดเทียนชัย เจริญพระธรรมจักรกัปปวัตนสูตรเต็มบท เสร็จพิธีในส่วนนี้ก็ถวายภัตตาหารเพล จากนั้นประธานพิธีถวายเครื่องไทยธรรม คณะสงฆ์กล่าวอนุโมทนา กรวดน้ำ
เวลา 13.00 น. คณะสงฆ์ธรรมยุตินิกายจากวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม จำนวน 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์เจ็ดตำนาน ประธานสงฆ์จุดเทียนพุทธาภิเษก พระพิธีธรรม 4 รูปจากวัดสุทัศน์เทพวรารามสวดพุทธาภิเษก พระมหาเถระนั่งปรก 2 รูป คือ
1. พระครูการุณยธรรมนิวาส (หลวงปู่หลวง กตปุญโญ) วัดป่าสำราญนิวาส อ. เกาะคา จ. ลำปาง หลวงปู่หลวงนี้เป็นศิษย์ในสายท่านพระอาจารย์มั่นองค์หนึ่งที่ทรงภูมิธรรมและอำนาจจิตเป็นอย่างสูง สิ่งหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้ท่านมากคือ ชานหมาก อันเป็นของว่างที่ท่านเคี้ยวแล้วทิ้ง หากผู้ศรัทธาที่เก็บไปบูชาเกิดมีประสบการณ์อัศจรรย์กับคำหมากท่านมากมาย ได้ยินมาว่าแม้รถที่กำลังจะคว่ำยังเห็นหลวงปู่ไปช่วยประคองไว้มิให้คว่ำได้ และในรถคันนั้นก็มีชานหมากอยู่คำหนึ่ง
หมากเป็นของที่เคี้ยวประเดี๋ยวประด๋าวไม่นานนักก็คาย ถ้าทำของทิ้งให้มีอานุภาพขึ้นมาได้ภายในเวลา ชั่วเคี้ยวหมากแหลก ก็อย่าไปสงสัยเลยหากท่านผู้นั้นจะตั้งใจเสกวัตถุมงคลด้วยเวลา 2 ชั่วโมง
จะดีแค่ไหนคงต้อง "ใช้" ดูเอง
2. พระปัญญาพิศาลเถร (หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล) วัดอนาลโย ต. ต๋อม อ. เมือง จ. พะเยา บอกได้เต็มปากอย่างไม่ต้องเกรงใจกันเลยว่า ผมดีใจที่สุดเมื่อเห็นรายชื่อและรูปหลวงพ่อไพบูลย์มาร่วมอธิษฐานจิต เพราะผมถวายเครดิตแก่ท่านในพิธีนี้อย่างสุดส่วนเต็มขั้วหัวใจ พร้อมกันนั้นก็นึกสรรเสริญผู้นิมนต์พระว่า ช่างตาถึง และเก่งเหลือเกิน ขอบคุณจริง ๆ
เพราะอะไร ?
โธ่ !คุณ เราสร้างพระอะไร รูปบูชาของใคร ถ้าคนฉลาดย่อมต้องหาผู้เสกที่ควรกัน เรียกว่าท่านทั้งสองฝ่ายรู้จักกัน นับถือกัน เช่น พ่อหลวงสงฆ์ จันทสโร วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย จ. ชุมพร ควรที่จะเสกพระบรมรูปของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เพราะ เสด็จเตี่ย เคารพท่าน แม้มีแต่ดวงพระวิญญาณยังไปต่อว่าพ่อหลวงสงฆ์ว่า “ผ่านบ้านแต่ไม่แวะเยี่ยมเลยนะ” บ้านดังท่านว่าก็คือศาลที่หาดทรายรี จ.ชุมพรนั่นเอง ภายหลังหน่วยงานราชการสร้างเหรียญกรมหลวงชุมพรได้นิมนต์พ่อหลวงสงฆ์เสกที่ใต้กระบอกปืนใหญ่เรือหลวงชุมพร นี่เรียกว่าควร
หรืออย่างเจ้าแม่กวนอิม ที่ต้องเสกโดยหลวงปู่โต๊ะ อินทสุวัณโณ วัดประดู่ฉิมพลี อันนี้ก็ควร ด้วยท่านทั้งสองเคยพบเจอกันในนิมิตจากนั้นก็ติดต่อกันเสมอ เรื่องนี้จะฟังให้มันส์ต้องฟังอาจารย์เบิ้มเล่า หรือพระพรหมที่หากเป็นหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก อยุธยา อธิษฐานจิตก็เป็นอันว่าลงใจสนิท ฤาษีต้องเป็นหลวงปู่พรหมา เขมจาโร วัดสวนหินฯ กุมารทองต้องหลวงพ่อเต๋ คังคสุวัณโณ วัดสามง่าม ดังนี้เป็นต้น เพราะท่านเหล่านี้...
เป็นคู่บารมีกัน
ลองสับกันสิ เอาฤาษีไปให้หลวงปู่ดู่เสกก็เสร็จ ท่านจับบวชพระหมด เอากุมารทองไปให้หลวงปู่โต๊ะท่านก็บ่นพึม ก็ท่านไม่ใช่คู่กัน
ฉันใดก็ดี หลวงพ่อไพบูลย์ก็ฉันนั้น ผมไม่อาจเล่าเท้าความได้ถึงการพบเจอพระศิวะมหาเทพและพระพิฆเนศวรเทพแห่งวิทยาการในองค์หลวงพ่อไพบูลย์ ด้วยเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันไปถึงสถาบันระดับสูงของประเทศชาติ แต่เมื่อพูดถึงตรงนี้ใครที่เคยได้ฟังจากหลวงพ่อย่อมต้องร้องอ๋อทันที
และถือว่าเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์ที่สุดเรื่องหนึ่ง
บอกตรงนี้ดัง ๆ เลยว่า หลวงพ่อไพบูลย์เป็นพระมหาเถระที่ทรงอภิญญาระดับสูง อย่างหาผู้เปรียบได้ยาก คนติดรูปเมื่อเห็นวัดท่านอาจถอยศรัทธาด้วยสวยเกินไป
แต่อย่าลืมมอง ข้างใน
หลวงพ่อไพบูลย์องค์นี้ผมยืนยันกับทุกท่านเลยว่าเป็นองค์หนึ่งที่เคยพบเจอพระศิวะมานับครั้งไม่ถ้วน พระศิวะผูกพันกับหลวงพ่อมาก เห็นจะเป็นด้วยบุรพกรรมที่ร่วมสร้างกันมา มหาเทพพระองค์นี้เคยช่วยหลวงพ่อในกิจต่าง ๆ มากครั้งด้วยกัน แต่ละวาระเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่ชวนขนหัวลุกสำหรับผู้ไม่ประสาเช่นผม
เป็นเครื่องยืนยันถึงความมีอยู่จริงของเทพองค์นี้
อยากบอกว่ามิใช่เพียงหลวงพ่อเท่านั้นที่เคยเกี่ยวข้องกับพระศิวะ แม้องสรภาณมธุรสหรือท่านบ๋าวเอิง แห่ง วัดสมณานัมบริหาร (วัดญวณสะพานขาว) ก็เคยได้สัมผัสพระศิวะมาแล้ว หรือสตรีนักปฏิบัติธรรมที่อัฐิกลายเป็นพระธาตุอย่างมหาอุบาสิกาบุญเรือน โตงบุญเติม วัดอาวุธ-วิกสิตาราม ก็เคยข้องเกี่ยวกับพระศิวะเทพเช่นกัน
โดยที่ท่านเหล่านี้ไม่ได้ถือว่าพระศิวะเป็นสรณะอันเกษมสูงสุดไปกว่าพระรัตนตรัย หากเป็นผู้ร่วมทางในการบำเพ็ญธรรมที่ควรเกื้อกูลกันต่างหาก
นี่คือสิ่งที่ท่านมอง
แม้พระคเณศก็เช่นเดียวกัน เป็นอะไรที่หลวงพ่อไพบูลย์ได้พบปะกันบ่อย ๆ จนที่วัดยังต้องมีรูปเคารพพระคเณศให้คนแปลกใจว่าทำไมหลวงพ่อจึงนำสิ่งที่มิใช่พระพุทธศาสนาเข้าวัด
เรื่องภพชาติเป็นของละเอียดเกินจะอธิบาย
ใครจะล่วงรู้ได้ว่าใครเคยเกิดเป็นพ่อแม่พี่น้องบุตรธิดากันมาก่อน หากมิใช่ผู้ทรงญาณหยั่งรู้โดยทางปฏิบัติภาวนา เอาเป็นว่าหลวงพ่อไพบูลย์รู้จักและเคารพนับถือกันเป็นอย่างดีกับพระศิวะและพระพิฆเนศวร เมื่อท่านมาประกอบพิธีเสกถึง บ้าน ของมหาเทพทั้งสอง จงอย่าสงสัยถึงความศักดิ์สิทธิ์และความสำเร็จผลในการเสกเลย ท่านต้องติดต่อให้ทั้งสองพระองค์มาร่วมเสก ร่วมรับทราบแน่นอน ไม่ใช่หลับหูหลับตาเสกอย่างเสกพระพุทธหรือตะกรุดเครื่องรางก็แล้วกัน
เวลา 17.00 น. พระสงฆ์มหานิกายจากวัดสุทัศน์เทพวราราม จำนวน 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ พระพิธีธรรมจากวัดสุทัศน์ ฯ 4 รูป สวดพระทิพยมนต์ และ มหาสมัยสูตร อันเป็นพระสูตรที่เหล่าเทพยดาโปรดปรานยิ่งนัก และมีพระมหาเถระในมหานิกายนั่งปรก 3 รูป ดังนี้
1. พระครูวินัยวัชรกิจ (หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม) วัดตาลกง ต. มาบปลาเค้า อ. ท่ายาง จ. เพชรบุรี หลวงพ่ออุ้นเป็นศิษย์ในหลวงพ่อทองสุข ธัมมโชโต วัดโตนดหลวง ซึ่งเป็นพระเถระที่เรืองวิชาอย่างมาก ในเมืองเพชรบุรีและปริมณฑลยุคก่อน ใครจะศึกษาไสยเวทพุทธาคมล้วนต้องมุ่งหน้าไปวัดโตนดหลวงทั้งสิ้น
หลวงพ่อทองสุขมีวิชาอาคมที่เข้มขลังยิ่งนัก เป็นพระภิกษุรูปเดียวที่มีหลักฐานว่าได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ลงอักขระกระหม่อมของในหลวงองค์ปัจจุบัน ถือเป็นเกียรติประวัติแก่หลวงพ่ออย่างมาก หลวงพ่ออุ้นได้รับวิชามาหลายแบบด้วยกัน โดยเฉพาะการลงตะกรุดโทนด้วยยันต์ครู การลบผงพระจันทร์ครึ่งซีกอันเป็นมหานิยมอย่างสุดยอด ฯลฯ รวมไปถึงความเมตตาที่หลวงพ่อมีให้ผู้ไปกราบอย่างเสมอภาคทุกคน ทำให้ท่านเป็นที่เคารพรักในศิษย์ทุกระดับชั้น
ข่าวขลังแห่งท่านปรากฏเมื่อราวปี 2540 เมื่อคนถูกยิงแบบเผาขนแต่กระสุนไม่ลั่น ถ้าจำไม่ผิด ยิง 3 นัด ออก 1 นัด แต่ไม่เข้า เป็นผลให้เหรียญรุ่นแรกที่มีราคาออกจากวัดไม่กี่บาทพุ่งพรวดเป็นหลักพัน ผมเรียนถามท่านถึงเหตุการณ์นี้ท่านได้แต่ยิ้ม ๆ อย่างไม่อยากคุยถึงความเก่งของตัวเอง
เป็นพระที่กราบได้สนิทใจองค์หนึ่ง
รีบไปเสียนะ
เมื่อเห็นหลวงพ่ออุ้นมาร่วมเสกพระชุดนี้ผมก็ยิ่งมั่นใจ นอกเหนือไปจากที่หลวงพ่อจะเก่งจริงแล้วยังเป็นเรื่องทางใจ คือท่านไม่รังเกียจเรื่องของเทพเจ้าเหล่าพรหม พระสงฆ์บางรูปไม่ชอบเรื่องเทวดา บางทีเลยไปถึงไม่เชื่อว่าเทพองค์นั้น- องค์นี้จะมี ก็ป่วยการเชิญท่านมาเสก แต่เป็นหลวงพ่ออุ้นแล้วผมมั่นใจ
3. พระครูปราสาทพรหมคุณ (หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ) วัดเพชรบุรี ต. ทุ่งมน อ. ปราสาท จ. สุรินทร์ หลวงปู่หงษ์เป็นพระผู้เฒ่าที่แตกฉานในไสยศาสตร์ทุกกระบวน สมเป็นพระที่สืบเชื้อสายจากชาวเขมรที่เลื่องลือว่าเป็นเอกในไสยวิชา ผมยังไม่เคยเห็นใครทำคงกระพันได้อย่างท่าน นั่นคือยิงโดนหน้าอกแล้วไม่เข้าอันนี้ไม่แปลกเห็นกันทั่วไป แต่ที่ลูกปืนกระทบหน้าอกแล้ววิ่งอ้อมไปตกด้านหลังนี่นับว่าน่าตื่นตะลึง ไม่รวมมหาอุดหยุดปืน แคล้วคลาด และมหากำบังที่ท่านทำได้อย่างไม่น่าเชื่อ ท่านเป็นอีกองค์หนึ่งที่ไม่รังเกียจเรื่องเทวดา หนำซ้ำยังผูกพันให้ความเคารพไม่ดูหมิ่นกันอีกด้วย ท่านนับถือพระคเณศว่าเป็นครู
มีเรื่องแปลกที่ควรบันทึกไว้ซึ่งผมว่าน่าชื่นใจสำหรับผู้จัดพิธีนี้และผู้เลื่อมใส กล่าวคือการประกอบพิธีเทวาภิเษกนั้นได้จัดขึ้นที่โบสถ์ใหญ่ซึ่งเป็นเทวาลัยของพระศิวะ ขณะที่หลวงปู่หงษ์กำลังปลุกเสกอยู่นั้นเอง ท่านเห็นชายคนหนึ่งรูปร่างสูงใหญ่เกินมนุษย์ยืนกางขาคร่อมโบสถ์เอาไว้เหมือนอย่างจะแสดงแสนยานุภาพ เมื่อท่านกำหนดดูก็รู้ทันทีว่าบุรุษลึกลับผู้มาอย่างปาฏิหาริย์นี้คือ
พระศิวะ
ทว่าท่านมิได้บอกเล่าเรื่องนี้ในเทวสถานแต่อย่างใด หากเล่าแก่ศิษย์คนสนิทคือคุณป๋องให้ฟังภายหลังว่า “เจ้าของโบสถ์เขาก็มา มายืนคร่อมอยู่อย่างนี้” ซึ่งคุณป๋องก็ได้นำมาบอกเล่าให้คุณหนุ่ยเจ้าหน้าที่โบสถ์พราหมณ์คนหนึ่งฟังอย่างเลื่อมใส
เป็นพยานอีกองค์หนึ่งว่าพระศิวะมีตัวตน และนี่คือพยานที่สองในเรื่องของโบสถ์พราหมณ์
หลวงปู่ไม่เล่าในวันงานนั้นนับว่าดี มิฉะนั้นคนอาจมองว่าท่านพูดอย่างเอาใจเจ้าภาพ แต่เมื่อท่านเล่าให้คนกันเองฟังภายหลัง ผมว่าสิ่งที่ท่านเห็นท่านต้องมั่นใจจริง ๆ
ผมก็มั่นใจท่านเช่นกัน
3. พระอาจารย์สิงทน นราสโภ วัดพระพุทธชินราช พุทธชิโนฮิลล์ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ท่านพระอาจารย์องค์นี้ผมไม่ค่อยได้ติดตามข่าวสารของท่านมากนัก ด้วยท่านอยู่ไกลจากผมพอสมควร แต่เคยได้ยินกิตติคุณในท่านอยู่เหมือนกันว่าท่านเก่ง เอาไว้ผมได้สัมผัสท่านอย่างใกล้ชิดเมื่อไรจะกลับมาบรรยายกันอีกที
เวลา 21.00 น. พระรามัญจากวัดปรก จำนวน 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ พระพิธีธรรมรามัญจำนวน 4 รูป สวดภาณวาร พระรามัญนั่งปรกจำนวน 4 รูป
1. พระสมุห์ชำนาญ อุตตมปัญโญ วัดบางกุฎีทอง ต. บางกระดี่ อ. เมือง จ. ปทุมธานี ผมเคยได้ยินชื่อเสียงท่านจากเพื่อนฝูงหลายคนว่าท่านเก่งและรอบรู้ในเวทย์มนต์คาถาไม่น้อย ถือได้ว่าเป็นพระอาจารย์รุ่นใหม่ที่ขึ้นมาทดแทนองค์เก่าซึ่งมรณภาพจากไปองค์แล้วองค์เล่า หมู่พวกที่ใส่พระของท่านมีประสบการณ์มาเล่าให้ฟังไม่ขาดปากเหมือนกัน แม้จะไม่หวือหวาแต่ก็เรียกน้ำย่อยแห่งศรัทธาได้ไม่เบา
2. พระครูปลัดวีรวัฒน์ ชยธัมโม วัดปรกยานนาวา เขตสาธร กรุงเทพมหานคร
3. พระครูปราโมทสารคุณ วัดบางตะไนย์
4. พระครูเมตตาธรรมคุณ วัดโพธิ์เลื่อน
และในเวลา 01.10 ประธานสงฆ์ก็ทำพิธีดับเทียนชัยเป็นอันเสร็จพิธีมหามังคลา-เทวาภิเษกโดยสมบูรณ์อย่างไม่มีใดต้องติ สมบูรณ์ทั้งฝ่ายพราหมณ์ที่อัญเชิญให้เทพเจ้าลงอำนวยพรประทานความศักดิ์สิทธิ์ สมบูรณ์ทั้งฝ่ายพุทธที่บรรจุพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และความเป็นเมตตา มหาเสน่ห์ มหานิยม อุดมลาภ มหาลาภ มหาอุด อยู่ยงคงกระพันชาตรี แคล้วคลาดอุปัทวันตราย และมหากำบังอย่างที่พระเครื่องจะพึงมี
7. ของดียังมีอยู่
ที่เล่ามาทั้งหมด หมายใจจะแนะนำให้ท่านทั้งหลายได้รู้จักสถานที่อันเป็นอุดมมงคล มีความหมายทางประวัติศาสตร์ชาติไทย ด้วยเป็นของคู่บ้านคู่เมืองควรแก่การดูแลรักษา ทรัพย์คู่บารมี ของพวกเราเอาไว้ พร้อมกันนั้นก็เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจอันทรงคุณค่ายิ่งนัก ไม่ว่าจะเป็นด้านโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปกรรม ปฏิมากรรม หรือเรื่องราวแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของเหล่าเทพที่ประชาชนศรัทธา
หลายท่านที่เป็นชาวพุทธชนิดอยู่กึ่งกลาง นับถือพุทธแต่การภาวนายังอ่อนอาจมองเรื่องราวของเทวดาอย่างตั้งแง่เชิงลบ ได้ยินบ่อย ๆ ว่าไม่ใช่พุทธแท้บ้างล่ะ ไม่ใช่สรณะที่พึ่งอันเกษมบ้างล่ะ ไม่มีในศาสนาของเรา ฯลฯ ผมฟังแล้ว คันฟัน แต่ขี้คร้านจะโต้กลับ ด้วยเขาไม่ได้พูดกับเราเป็นเพียงเปรยกับคนอื่นแต่ลอยมาเข้าหู ปากห้ามได้แต่ใจน่ะหมดสิทธิ์ มันเลยสวนเขาตูมตามอยู่ในใจว่า งั้นตอนรับพรพระพอถึง ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา ก็อย่าพนมมือรับเลย เพราะนั่นแปลว่า ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่าน ขอเหล่าเทพยดาทั้งปวงจงรักษาท่าน
แล้วทำไมพระท่านจึงต้องให้พรอย่างอ้างเทวดา ทำไมไม่เอาอำนาจพระรัตนตรัยโดยส่วนเดียวเล่า
ที่มาน่ะมี
พระคาถาบทหนึ่งชื่อว่า เทวะตาทิสสะทักขิณานุโมทนาคาถา มีความตอนหนึ่งว่า
ยา ตัตถะ เทวะตา อาสุง เทพเหล่าใดมีในที่นั้น ตาสัง ทักขิณะมาทิเส ควรอุทิศทักษิณาทานเพื่อเทพดาเหล่านั้นด้วย ตา ปูชิตา ปูชะยันติ เทพดาที่ได้บูชาแล้ว (เทพดานั้น)ท่านย่อมบูชาบ้าง
มานิตา มานะยันติ นัง ที่ได้นับถือแล้ว ย่อมน |
|